เส้นทางสู่หูฟัง Custom In Ear Monitor ตอนที่ 1 – จุดเริ่มต้นและความเป็นมา

18/03/2013 12:55 Blog

เท้าความกันก่อน

ผมเริ่มฟังเพลงด้วยอุปกรณ์พกพาตั้งแต่สมัย ม.ต้น ปัญหาที่ประสบมาตลอดคือ ไม่ว่า player จะดีแค่ไหน สุดท้ายก็จะตกม้าตายที่หูฟังอยู่ดี สมัยนั้นหูฟังที่นิยมใช้กันก็จะเป็นแบบ earbud แบบหูฟัง iphone ทั่วๆไป ซึ่งใบหูของผมนั้นกว้างเกินไม่สามารถหนีบหูฟังแบบนี้ให้สนิทได้ เพียงแค่ขยับตัวนิดเดียว หูฟังก็แทบจะหลุดร่วงลงมาแล้ว และการที่มันไม่แนบไปกับรูหู ทำให้ได้ยินเสียงไม่ครบ โดยเฉพาะย่านต่ำ ทำให้ไม่ว่า player จะมีเบสมากเพียงใด สุดท้ายแล้วก็ไม่แทบไม่ได้สัมผัมความตึ้บอยู่ดี

ถึงแม้จะเปลี่ยนจาก earbud ไปเป็นแบบครอบหรือเกี่ยวหู ปัญหาก็ยังไม่จบ เพราะผมเองใส่แว่นมาตั้งแต่ ม.1 และไม่สะดวกในการใส่คอนแทคเลนส์ หูฟังแบบนี้จะหนีบระหว่างใบหูกับขาแว่น ใส่ได้ไม่นานก็เจ็บใบหูอยู่ดี

จนกระทั่งเมื่อประมาณ 6-7 ปีก่อน เริ่มมีหูฟังแบบ in ear ราคาไม่แพงขึ้นมาบนโลก จำได้ว่าหูฟัง in ear คู่แรกที่ผมใช้คือยี่ห้อ Creative EP630 ในตอนนั้นก็คิดว่า นี่แหละหูฟังที่เกิดมาเพื่อเรา แต่….มันยังไม่จบครับ คือว่า เจ้าหูฟังแบบนี้มันจะมีจุกยาง แล้วต้องยัดจุกยางเข้าไปในรูหู ปัญหาที่พบคือ หูฟังข้างซ้ายมันจะไหลหลุดอยู่ตลอดเวลา เพราะรูหูทั้งสองข้างของผม มันดันไม่เท่ากัน (ข้างซ้ายใหญ่กว่าข้างขวา) ถ้าใช้ขนาดจุกสองข้างไม่เท่ากัน มิติเสียงก็จะไม่เท่ากันอีก ถึงแม้จะลงทุนใช้จุก comply foam ปัญหาก็ยังไม่จบ เนื่องจากจุกแบบนี้จะทำให้คุณภาพต่ำลงไปพอสมควรตามอายุการใช้งาน แถมยังใช้ได้ไม่นาน (3-4 เดือน) ก็หมดสภาพต้องเปลี่ยนใหม่ (คู่นึงไม่ใช่ถูกๆ เกือบสองร้อยบาท) จึงไม่ใช่ทางเลือกที่เหมาะสมนัก

จากปัญหามากมายหลายหลากที่กล่าวมา ผมจึงเล็งไปที่ทางเลือกสุดท้าย นั่นคือลงทุนไปที่ Custom In Ear Monitor เลย

Custom In Ear คืออะไร

เวลา เราไปเห็นศิลปินกำลังแสดงบนเวทีแล้วเห็นนักร้องใส่หูฟังแบนๆ เป็นสีๆ สีครีมบ้าง แดงบ้าง น้ำเงินบ้าง ไม่มียี่ห้อบนหู และที่สำคัญหูฟังของเขาปิดรูหูจนหมด นั่นแหละครับคือ Custom Molded IEM กันซึ่งอุปกรณ์ภายในเหมือนกันกับ IEM ทั่วไปทั้งหมดแต่ตัวถังจะถูกออกแบบเฉพาะ โดย Custom Molded IEM นั้น เกิดจากเจ้าของหูฟังคู่นั้นไปอัดซิลิโคนพิมพ์หูมา ขั้นตอนคล้ายๆกันกับที่คุณไปดัดฟันแล้วเขาขอพิมพ์ฟันนั่นล่ะ แล้วส่งชิ้นงานที่พิมพ์ลักษณะทั้งหมดของใบหูเราไปที่โรงงานผู้ผลิตซึ่งใน ประเทศไทยยังไม่มีใครสามารถทำ Custom Molded IEM ได้ ส่วนยี่ห้อใหญ่ๆที่คนนิยมกันมักจะเป็น Sensaphonic, Ultimate Ears, Westone และยังมียี่ห้ออื่นๆจากหลายแหล่งกำเนิดโผล่ขึ้นมาอีกเป็นจำนวนมาก จุดเด่นของ Custom In Ear นั้นคือมันจะพอดีกับหูของเจ้าของเป๊ะๆ (แน่ล่ะเพราะพิมพ์มาจากหูของเจ้าของเองนินา) สามารถกันเสียงรอบข้างได้ดีมากๆ รวมถึงแทบไม่มีการสูญเสียคุณภาพเสียงเหมือน In Ear Monitor ทั่วไปที่ต้องใส่จุกแบบต่างๆด้วย

สรุปข้อดีข้อเสียของ Custom In Ear Monitor แบบคร่าวๆ

ข้อดี

  1. เสียงดี ยิ่ง Driver เยอะเสียงยิ่งดี (แน่นอนว่ายิ่งแพง)
  2. ใส่ได้พอดีเป๊ะๆ ไม่หลุดแม้ออกกำลังกาย
  3. กันเสียงรอบข้างได้สงัด
  4. สวย และดูแพง (เพราะมันแพงจริงๆ 555+)

ข้อเสีย

  1. แพงมาก เริ่มต้นที่หมื่นปลายๆ
  2. ต้องใช้อย่างระมัดระวัง ถ้าทำตกพื้นแล้วแตก พังทันที ต้องส่งไป Remold ใหม่อีกหลายพัน
  3. ขั้นตอนกว่าจะได้เป็นเจ้าของค่อนข้างยุ่งยากและใช้เวลานาน (จะบอกในตอนต่อไป)
  4. ราคาขายต่อตกวูบ เพราะเจ้าของใหม่ต้องเผื่อเงินไป Remold ใหม่อีกหลายพันด้วย
  5. ไม่มีใครใส่ได้พอดีนอกจากเรา จึงไม่สามารถแบ่งปันให้คนอื่นใช้ได้
หน้าตาของ Custom In Ear Monitor

หน้าตาของ Custom In Ear Monitor

ขณะสวมใส่

ขณะสวมใส่

 

เริ้มต้นหาข้อมูลเพื่อเป็นเจ้าของ

หลังจากที่รู้ว่า Custom In Ear คืออะไร (ในที่นี้จะขอเรียก CIEM) ก็ลองหาข้อมูลดูว่า จะหามาเป็นเจ้าของได้อย่างไร อย่างที่บอกไปแล้วว่า CIEM ไม่เหมือนหูฟังทั่วไปที่ซื้อแล้วมาใช้ได้เลย ต้องสั่งทำให้พอดีกับหูเราเท่านั้น เท่าที่หาข้อมูลมาพักใหญ่ๆ ก็ทราบมาว่า ในไทยที่พอจะสั่งได้ มีอยู่หลายนี่ห้อพอสมควร ซึ่งผมก็ชั่งใจอยู่ 2 ยี่ห้อ ได้แก่ JH Audio และ Unique Melody ซึ่งสุดท้ายก็ตกลงปลงใจที่ Unique Melody เพราะผมเองมีหูฟัง Ultimate Ears Triple Fi.10 อยู่แล้ว ซึ่งสามารถส่งไป Remold เป็น CIEM ได้ น่าจะเป็นทางออกที่จ่ายเงินไม่มากนัก

ในตอนหน้าจะมาพูดถึงขั้นตอนการสั่งครับ

 

No Comments

(Required)
(Required, will not be published)

This blog is kept spam free by WP-SpamFree.